ที่มาและความสำคัญ


   พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้าง นวัตกรรมการศึกษา อันเป็นการนำร่องในการกระจายอำนาจ ให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งให้เกิดการขยายผล แนวปฏิบัติที่ดีนำไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น หรือได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
    โดยที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) กำหนดให้ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง และมาตรา 24 กำหนดให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจัดให้มีระบบข้อมูลตามมาตรฐาน ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำหนด
    เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการ จึงทำให้การจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษาไม่มีมาตรฐานกลาง ส่งผลให้การส่งต่อข้อมูลหรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการออกแบบระบบการบริหารจัดการข้อมูลการจัดการศึกษาในลักษณะ ของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเชื่อมโยงระบบสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง และช่วยลดความซ้ำซ้อนของการนำเข้า จัดเก็บและส่งต่อข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
    คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงกำหนดมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง เพื่อใช้งานร่วมกันได้ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

วัตถุประสงค์

    เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดให้มีระบบข้อมูลของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562